AJARN OU
Copyright © Chawakorn T. All Rights Reserved.

จดหมายเปิดผนึกจากอาจารย์อุ๊ :
ครูผู้ให้ไม่รู้จักพอ
เรื่องเล่าโดย ชวกร ตั้งสินมั่นคง (ทิม)

ฉันพบครูคนหนึ่ง คนที่แทนศิษย์ทุกคนด้วยคำว่า “ลูก” ในเวลาสี่โมงเย็นครูท่านนี้จะมีความสุขมากที่ได้พูดคุยกับลูก ๆ ของเธอ เธอใช้เวลาอย่างนี้มานานหลายสิบปีแล้ว จะมีรอยยิ้มบนในหน้าของครูปรากฏให้ฉันเห็นอยู่เสมอ ครูที่ฉันกำลังพูดถึงหาใช่ครูในระบบการศึกษาไม่ แต่กลับเป็นครูการศึกษาทางเลือก ที่พร้อมจะให้ศิษย์ได้ทุกอย่าง ไม่แปลกเลยที่ในแต่ละสัปดาห์จะมีบรรดาลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว แวะเวียนกลับมาเยี่ยมเธอ อาจเป็นเพราะพวกเขา “คิดถึง” เธอก็เป็นได้
อุไรวรรณ ศิวะกุล หรืออาจารย์อุ๊ (ซ้าย) และอนุสรณ์ ศิวะกุล หรืออาจารย์เจี๊ยบ (ขวา) ผู้ก่อตั้งกวดวิชาวรรณสรณ์ อาจารย์อุ๊เปิดกวดวิชามาตั้งแต่เธอเป็นข้าราชการสอนอยู่ที่โรงเรียนเป็นเวลากว่าสิบปี จนกระทั่งเธอตัดสินใจลาออกมาสอนกวดวิชาเต็มตัว
ครูที่ฉันกำลังพูดถึงคือ อุไรวรรณ ศิวะกุล หรือที่เด็ก ๆ หลายคนจะเรียกกันว่า “อาจารย์อุ๊” เจ้าของกวดวิชาเคมีที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ผู้สร้างตึกวรรณสรณ์แหล่งรวมกวดวิชาจากทั่วฟ้าเมืองไทยเข้าไว้ด้วยกัน ในแต่ละวันจะมีผู้คนเข้าออกตึกแห่งนี้มากมายนับไม่ถ้วน ภาพยามที่คอยกั้นเชือกเพื่อให้เด็กข้ามถนนตรงสัญญาณไฟถูกพบเห็นได้จนชินตา การไหลเวียนของกระแสเงินสดในระบบการศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นในที่แห่งนี้เป็นที่แรก ๆ เลยก็ว่าได้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องผ่านปัญหาต่าง ๆ มามากมายนับไม่ถ้วน แต่น่าแปลกใจว่าถ้าเพื่อศิษย์แล้ว ครูคนนี้ทำให้ได้หมดทุกอย่าง


การเดินทางมาตึกวรรณสรณ์ หากมาด้วยรถไฟฟ้าจะต้องข้ามแยกถนนพญาไท ซึ่งส่วนมากในช่วงปิดเทอม หรือวันเสาร์อาทิตย์จะเห็นยามนำเชือกมากั้นเพื่อให้นักเรียนข้ามให้ตรงจังหวะสัญญาณไฟจราจร
ตึกวรรณสรณ์ตั ้งอยู่ที่สี่แยกพญาไทซึ่งติดสถานีรถไฟฟ้าพญาไท นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมากมาย ชื่อตึกเกิดจากการนำชื่อของอาจารย์อุ๊และอาจารย์เจี๊ยบมารวมเข้าด้วยกัน
01 - ถึงสังคมเมื่อก่อนที่ไม่เคยยอมรับ
เด็กจำนวนมากมายเข้ามาเรียนกวดวิชาตามสถาบันต่าง ๆ ในขณะที่เด็กก้าวเข้าสู่ห้องเรียนทางเลือก จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผู้ปกครองของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ หากมองไปตามที่นั่งในตึกวรรณสรณ์ จะเห็นผู้ปกครองจำนวนหนึ่งนั่งรอ บางคนก็เผลอหลับไป ไม่รู้ว่าผู้ปกครองแต่ละคนเขาเหนื่อยมาจากไหนกัน เงินแต่ละบาทที่หามาเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ แถมยังต้องนั่งรอลูกเลิกเรียนอย่างนี้มาตลอดเวลาหลายปี จะมีใครสักคนไหมที่เห็นภาพเหล่านี้ แต่สำหรับอาจารย์อุ๊ ความลำบากของแม่ที่ผ่านมา การถูกตราหน้าว่าเรียนไม่เก่ง และ “โต๊ะสีแดง” ตัวนั้น เธอกลับไม่เคยลืมมันเลย
อาจารย์อุ๊เกิดในครอบครัวที่ฐานะปานกลาง เธอเป็นลูกคนที่ห้าจากพี่น้องจำนวนเก้าคน และเป็นคนที่เรียนไม่เก่งเพียงคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้งหมด แม่ของเธอถึงกับฝากพี่น้องให้ช่วยกันดูแลเธอ และแล้วจากเด็กที่ไม่อยากเรียนหนังสือคนนี้ ก็ต้องสอบเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีระนอง ผลปรากฏว่าเธอสอบไม่ติด ทำให้เธอดีใจมากที่ไม่ต้องเรียนหนังสือ และอยากมาช่วยแม่ขายของ แน่นอนว่าแม่ของเธอไม่ยอมให้เธอมาช่วยงาน แต่กลับฝากเธอเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีระนอง โดยแลกกับการที่ต้องทำโต๊ะมาให้เพราะที่นั่งในโรงเรียนไม่พอ โต๊ะตัวที่แม่ทำเป็นโต๊ะไม้สีแดงที่เคลือบเชลแลคอย่างดี ในทางกลับกัน “ไอเด็กโต๊ะแดง” ก็ถูกใช้เรียกเด็กที่ไม่สนใจเรียนเช่นกัน เวลาอาจารย์ไปเดินตลาดกับแม่ คนในตลาดจะมีคำพูดต่าง ๆ นานาที่ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่เก่ง แม่ของเธอปลอบพร้อมกับยิ้มให้
“รู้สึกว่าโง่ แต่ไม่ได้ขาดความรัก”
เธอได้ความรักจากแม่ ถึงแม้ว่าเธอจะเรียนไม่เก่ง
สิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตามกวดวิชา ผู้ปกครองที่มาส่งลูกเรียนหนังสือนั่งพักผ่อน บางคนก็นอนหลับรอ ความเหนื่อยนี้นักเรียนบางคนอาจไม่เคยเห็น แต่สำหรับอาจารย์อุ๊ เธอไม่เคยลืมโต๊ะสีแดงที่แม่ทำให้เพื่อให้เธอได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง

จุดเปลี่ยนผันของชีวิตเกิดขึ้นเมื่ออาจารย์เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง พี่ ๆ ของเธอบอกให้เธอไปอ่านหนังสือโดยไร้การช่วยเหลือแม้แต่นิดเดียว เธอจึงตัดสินใจไปนั่งเล่นบ้านของเพื่อน ซึ่งในวันนั้นเองเพื่อน ๆ นั่งติววิชาภาษาไทยกัน เธอก็นั่งฟังโดยไม่พูดอะไร และก็ไม่มีเพื่อนคนไหนถามเธอเช่นกัน เมื่อถึงเวลาสอบ เธอพบว่าเธอทำข้อสอบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ชื่อนั้นก็คุ้นหู ชื่อนี้ก็จำได้ เธอทำได้คะแนนสูงสุดในห้องสำหรับการสอบครั้งนั้น เธอวิ่งเข้าไปกอดแม่พร้อมบอกคะแนนที่เธอทำได้ แม่ให้เงินสิบบาทกับเธอ พร้อมกับ “ศรัทธา” จากแม่ที่เธอไม่เคยได้รับ แม่ไปเล่าให้กับคนในตลาดฟัง ทำให้เวลาเธอไปเดินที่ไหน คนก็เริ่มบอกว่าเธอเก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ลูกคนอื่นเรียนได้ดี แม่ก็ไม่ได้ดีใจเท่ากับลูกคนนี้”
ความยินดีทำให้บ่อน้ำตาของแม่เอ่่อล้นออกมา
อาจารย์ไม่รู้วิธีในการอ่านหนังสือ ในช่วงแรก ๆ เธออ่านหนังสือทีละบรรทัด ทุกตัวอักษร แต่เมื่ออ่านไปสักพักเธอก็เริ่มจับทางได้ เธอเรียนอนุปริญญาที่วิทยาลัยครูภูเก็ต จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ระหว่างเรียนปริญญาโท เธอเปิดกวดวิชาหารายได้เสริมไปด้วย ความสุขในทุกครั้งที่สอนไม่ได้ทำให้การผลการเรียนตกลงเลย การเป็นที่หนึ่งเป็นสิ่งที่เธอทำได้เป็นประจำ ชีวิตที่ดูจะราบรื่น มีความสุข แต่เธอเองก็กลับมีช่วงที่เธอรู้สึกทุกข์ใจเหมือนกัน ท่ามกลางกองหนังสือมากมายบนเตียง ความขยันแบบเกินพอดีเข้าครอบงำเธอ คำว่า “เราเป็นที่สองไม่ได้” วนเวียนอยู่ในความคิดของเธอ สุดท้ายน้องสาวของเธอก็ทนไม่ไหวต้องไปเล่าให้แม่ฟัง
“ขอให้กลับมาเป็นลูกแม่คนเดิม”
ประโยคขอร้องจากผู้เป็นแม่ที่ทำให้เธอรู้สึกตัว
ชีวิตมีทั้งความสุขและความทุกข์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา แต่ถ้าให้อาจารย์อุ๊เลือกว่าช่วงไหนที่มีความสุขมากที่สุด “ช่วงวัยเด็ก” เธอตอบอย่างไม่ลังเล ความอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าเด็ก เธอพูดด้วยน้ำเสียงกัับแววตาที่พร้อมดูแลลูกศิษย์ทุกคน
02 - ถึงชีวิตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นสิ่งใครหลาย ๆ คนปรารถนา เขาว่ากันว่าหากคนเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ เราจะทำมันได้ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง อาจารย์อุ๊นับว่าเป็นหนึ่งในคนที่โชคดี เพราะเธอเป็นคนที่ชอบสอนหนังสือคนอื่น และยังได้มาเป็นครูอีก น้อยคนนักที่จะเป็นแบบเธอ เธอทำมันได้ดี ไม่น่าเชื่อว่าครูคนนี้ จะมาได้ไกลขนาดนี้ แต่ว่าตลอดเส้นทางตั้งแต่รับราชการมาจนถึงลาออกมาเปิดกวดวิชามีปัญหาต่าง ๆ เข้ามาหาตลอด แต่ด้วยความที่เธอเจอสามีอย่างอาจารย์เจี๊ยบซึ่งเก่งเรื่องการบริหาร ส่วนที่ขาดของเธอก็ถูกเติมเต็มทันที
ก่อนที่อาจารย์อุ๊จะบรรจุเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ด้วยความที่เธอเป็นคนชอบสอน เธอได้ใช้เวลาว่างระหว่างเรียนปริญญาโทสมัครทำงานที่โรงเรียนกวดวิชาแถวหัวลำโพง เนื่องจากครูสอนกวดวิชาเต็มแล้วเธอจึงได้ทำงานธุรการแทน แต่อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงเตรียมเอกสารสำหรับสอนวิชาเคมีควบคู่กันไปด้วย เธอคิดว่าสักวันหนึ่งเธอคงได้สอนในสิ่งที่เธอชอบ หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ ครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์มาสอนหนังสือไม่ได้ เจ้าของโรงเรียนบอกให้เธอเข้าไปสอนอะไรก็ได้ให้หมดเวลา เธอจึงเลือกสอนเรื่องพันธะเคมี ด้วยวิธีการสอนที่ทุ่มเททำให้นักเรียนขอให้อาจารย์สอนต่อ ถึงกับต้องเปิดคอร์สสอนแต่วิชาเคมีตามคำขอของนักเรียน เธอจึงได้เป็นครูสอนวิชาเคมีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“สอนเต็มที่สุดฝีมือ เด็ก ๆ ชอบมาก”
ครูวิชาเคมีที่ดีหายาก แต่เธอกลับเป็นครูคนนั้น

การเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเอง อาจารย์ใส่ใจกับนักเรียนทุกคน หากมีนักเรียนถามคำถาม สิ่งที่อาจารย์จะทำไม่ใช่การต่อว่าว่าทำไมสอนไม่จำ แต่เป็นการถามกับตัวเองว่าเราสอนตรงไหนไม่ดี นักเรียนเลยจำไม่ได้
อาจารย์ได้รับค่าจ้างจากสอนหนังสือชั่วโมงละร้อยบาทเป็นเวลากว่าสี่ปี เธอก็ยังเชื่อว่าถ้าสอนได้ดี เจ้าของโรงเรียนก็จะขึ้นค่าจ้างให้ แต่ในขณะที่ครูบางคนมา ๆ หาย ๆ จนเจ้าของโรงเรียนต้องไปตามให้มาสอนและขึ้นค่าจ้างให้เป็นสองร้อยกว่าบาท เธอจึงตัดสินใจ “ขอ” ขึ้นค่าจ้างเป็นร้อยห้าสิบบาทครั้งแรก แต่เจ้าของโรงเรียนไม่ยอม นั่นทำให้เธอตัดสินใจออกจากโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าว และมาเปิดสอนวิชาเคมีที่บ้านแทน “อุ๊ แอ๋ม แอน” เป็นนักเรียนสามคนแรกของเธอ หลังจากนั้นไม่นานจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเป็นหกคน สามสิบคน ทำให้นักเรียนต้องนั่งพื้นเรียน แต่พวกเขาก็มีความสุขนะ เมื่อบ้านหลังเล็ก ๆ มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน เธอจึงไปขอเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานของเซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่ทันไรความสำเร็จมาเยือนเธออีกครั้ง สิบสามคาบคาบละสองชั่วโมงกว่าแน่นไปด้วยนักเรียนที่อยากเรียนวิชาเคมี สุดท้ายเธอต้องไปหาตึกแถวสะพานควายเพื่อเปิดกวดวิชาของตัวเอง
“แกทำได้ดี เพราะรักในงานของแก”
คนรอบตัวเธอทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกัน
จากจำนวนที่นั่งหกสิบสี่นั่งในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ถูกเพิ่มเป็นทวีคูณไปเรื่อย ๆ จากหนึ่งห้องถูกขยายพื้นที่เป็นสองคูหารวมกับพื้นที่เช่าฝั่งตรงข้าม การสอนมีห้องสอนสด กับห้องถ่ายทอดอีกสามห้อง เธอต้องใช้วิธีการสอนแบบใหม่เพื่อให้ห้องถ่ายทอดไม่รู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้ง การถามตอบจากห้องถ่ายทอดได้ยินมาถึงห้องสอนสด ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างห้อง บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เมื่อเริ่มอยู่ตัวเธอก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลงมาสอนแบบปกติ แต่แล้วความสำเร็จมาเยือนเธออีกครั้ง ถึงขั้นคนที่อยากเรียนต้องมาตั้งแต่หัวค่ำก่อนวันที่เปิดรับสมัครเพื่อลงทะเบียน มีผู้ปกครองจำนวนมากมาเพื่อลงทะเบียนให้ลูกแต่ก็ไม่ทัน ผู้ปกครองในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวขอให้อาจารย์นำเทปไปเปิดให้หน่อย เคมีอาจารย์อุ๊สาขาที่สองและสามถูกตั้งขึ้น ทั้ง ๆ ที่สาขาสะพานควายก็ยังผ่อนไม่หมด
“อะไรที่เห็นพ้องต้องกัน ก็คือทำ”
ข้อตกลงระหว่างเธอกับสามีของเธอ
ในทุกครั้งที่สอนหนังสืออาจารย์จะเขียนหนังสือใหม่ทุกครั้ง เพื่อให้หนังสือที่สอนมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หนังสือถูกพิมพ์เสร็จไปแล้วโดยที่อาจารย์ยังไม่ได้ตรวจ เมื่อเธอตรวจกลับพบจุดผิดถึงสามตำแหน่ง เธอตัดสินใจพิมพ์หนังสือใหม่เพียงเพราะอยากให้นักเรียนได้สิ่งที่ดี

จากการตัดสินใจเพิ่มสาขา ทำให้อาจารย์ต้องลาออกจากราชการที่ทำมาตลอดสิบกว่าปี เซ็นใบลาออกทั้ง “น้ำตา” จากคนที่สอนหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ตอนนี้ความรู้สึกเหมือนคนตกงาน อยู่ ๆ ชีวิตก็เหมือนขาดอะไรบางอย่างไป เธอเลือกที่จะเติมเต็มชีวิตโดยนำเวลาว่างมาทุ่มเทให้กับการเตรียมหนังสือ ตลอดชีวิตในการเป็นข้าราชการครูของเธอได้รับการยอมรับมากมายจากนักเรียน ในตอนที่เธอเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสามเสน เพียงเพราะระบบอาวุโสทำให้เธอเป็นครูที่จบปริญญาโทคนเดียวที่ไม่ได้สอนวิชาเคมี แต่ต้องมาสอนวิชาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนต้นแทน หลายครั้งที่โอกาสที่ดีมาในเวลาที่เหมาะสม โรงเรียนบดินทร์เดชาติดต่อผ่านผู้อำนวยการให้เธอไปช่วยติวปลายภาควิชาเคมี ผู้อำนวยการใหม่คนนี้แปลกใจว่าทำไมเธอถึงยังสอนวิทยาศาสตร์อยู่ เขาผลักดันจนสุดท้ายเธอก็ได้สอนในสิ่งที่ตัวเองรัก
“นักเรียนกว่าร้อยละเก้าสิบ อยากให้อาจารย์อุ๊มาสอน”
ถ้าเราทำเต็มที่ โอกาสก็จะวิ่งมาหาเรา
เนื่องจากอาจารย์อุ๊เป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการสอน ทำให้เธอเป็นที่รักของลูกศิษย์นับล้านทั่วประเทศ การันตีความสำเร็จด้วยจำนวนสาขาทั้งหมดสามสิบสาขา อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาแต่ละที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้มีอิทธิพลบางคนจ้องที่จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แต่เธอก็ไม่เคยยอมแพ้และพร้อมที่จะสอนวิชาเคมีต่อไป
03 - ถึงครอบครัวและลูกอันเป็นที่รัก
ครอบครัวนับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทุกชีวิต บางคนเกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่บางครอบครัวก็ทะเลาะกันทุกวัน พ่อแม่มีลักษณะเช่นไร ลูกก็จะมีลักษณะนิสัยคล้ายพ่อแม่เช่นนั้น อาจารย์อุ๊เกิดในครอบครัวที่เต็มไปด้วย “รอยยิ้ม” เธอรวมถึงน้องสาวอีกสามคนของเธอเป็นคนที่ยิ้มสวยมาก ใบหน้าเต็มไปด้วยความสุข เพราะชีวิตมีทั้งจุดที่สูงสุดและต่ำสุดเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องทุกข์ผ่านเข้ามา เธอก็จะอยู่กับมันไม่นาน เครียดไปก็ไม่ช่วยอะไร แล้วไม่ทันไรเธอก็กลับมายิ้มอีกครั้ง
หากถามอาจารย์ว่าพ่อแม่อาจารย์เป็นใคร คงไม่มีใครรู้ว่าเธอนั้นเป็นลูกครึ่งไทยอินเดีย พ่อของเธอมาแต่งงานกับแม่และลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ที่ไทย แต่พ่อของเธอพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ “อย่าทะเลาะกัน” เสียงจากผู้เป็นพ่อที่เธอจะได้ยินบ่อย ๆ พ่อไม่ค่อยพูดแต่จะยิ้มอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับแม่ของเธอ นั่นทำให้หน้าที่สอนสิ่งต่าง ๆ ให้กับลูกส่วนใหญ่จะตกเป็นของผู้เป็นแม่ รอยยิ้มเป็นสิ่งที่เธอได้จากครอบครัวมาโดยตรง ส่วนเรื่องนิสัยก็คงเป็นเรื่องการยอมคนอื่น แม่สอนให้คบแต่ “คนดี” ที่ถูกกำหนดด้วยข้อห้ามสามข้อ นั่นคือ ห้ามกินเหล้า ห้ามสูบบุหรี่ และห้ามเล่นการพนัน ในวันที่เธอประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและครอบครัว น่าเสียดายที่แม่ไม่มีโอกาสได้เห็น เธอสอนกวดวิชาจนสามารถประมูลที่ดินตรงแยกพญาไทมาสร้างตึกวรรณสรณ์ได้ นั่นเป็นวันที่พ่อของเธอจากไป
“แม่ใจดีมาก พ่อก็ยิ้มเก่ง”
เธอกล่าวด้วยความคิดถึง
หลังจากเรียนปริญญาโทจบ อาจารย์ก็เข้ามาบรรจุที่โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เธอมาในช่วงที่อาจารย์เจี๊ยบตัดสินใจที่จะเรียนปริญญาโท ทั้งคู่อาจจะแค่เคยเห็นหน้า แต่ไม่ได้พูดคุยกันสักเท่าไหร่ เขากลับมาหลังจากหายไปสองปี “อาจารย์เจี๊ยบหล่อมาก” เธอคิดในใจ แต่ด้วยความที่เธอเป็นคนจริงจังกับงานทำให้เธอไม่ได้สนใจเขาเท่าไหร่ “ผู้หญิงคนนี้หยิ่งจัง ไม่หันมามองเลย” เพราะเธอเป็นคนเก่ง เขาคิดว่าต้องทำให้เธอหันมามองให้ได้ นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเขาทั้งสอง เธอนั่งไปกลับโรงเรียนด้วยรถประจำทาง เขาแอบมองและเล่นบาสรอเธอกลับบ้าน เขาขึ้นรถประจำทางสายเดียวกับเธอ จ่ายเงินให้เธอ มีอยู่วันหนึ่งเกิดการปฏิวัติ รถประจำทางเพียงสายเดียวที่เธอรู้ถูกเปลี่ยนเส้นทาง เธอไม่รู้ว่าจะกลับบ้านอย่างไร นั่นทำให้เขาขอไปส่งเธอที่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“เราเหมือนรถที่วิ่งเต็มที่แต่ไม่รู้ว่าวิ่งได้ไกลแค่ไหน”
ความห่วงใยจากคนที่เธอเลือกใช้ชีวิตด้วยกัน
หลังจากคบหาดูใจไม่เกินสองปี เธอและเขาก็ตัดสินใจแต่งงานกัน เลี้ยงลูกทั้งสองคนที่อายุห่างกันประมาณสามปี ชื่อ “เอิร์ธ อีฟ” เธอเลือกทุกสิ่งที่เธอคิดว่าดีที่สุดให้กับลูก ในสมัยก่อนการเรียนต่างประเทศเป็นสิ่งเธอมองว่าจะทำให้ลูกมีงานที่ดี เอิร์ธถูกส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษหลังเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนอีฟไปเรียนหลังจากจบระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง เพราะว่าอยากตามพี่ชายไป เธอผลักดันลูกเต็มที่เท่าที่คนเป็นแม่คนนึงจะทำได้ ถึงกับต้องหาคนที่รู้จักในอังกฤษมาบอกให้เอิร์ธเรียนที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ โรงเรียนมัธยมชั้นนำของประเทศอังกฤษซึ่งปีนึงจะเปิดรับแค่หกที่นั่งเท่านั้น สุดท้ายเมื่อลูกของเธอทำงาน เขาก็เข้าใจถึงสิ่งที่แม่พยายามบอกมาตลอดหลายปี ในช่วงที่ไปเรียนต่อ ครอบครัวเธอจะโทรคุยกันทุกวัน ลูกเล่าทุกอย่างให้เธอฟังจนเห็นภาพเหมือนกับเธอไปอยู่ด้วยกันกับพวกเขา
“เรายอมให้เขา แต่เราไม่ใช่ผู้แพ้ อย่าเอาเปรียบคนอื่น”
เธอสอนสิ่งที่แม่บอกเธอให้กับลูก ๆ

หลังเลิกเรียนทุกครั้ง อาจารย์จะไม่ได้ออกจากห้องทันที จะมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเดินมาถามเธอถึงสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจ บางครั้งเธออยู่กับนักเรียนกลุ่มนี้สามถึงสี่ชั่วโมง แต่เธอก็มีความสุขในสิ่งที่ทำ บางวันนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วก็แวะเวียนกลับมาหาเธอแล้วเล่าสิ่งต่าง ๆ ให้ฟัง
นอกจากครอบครัวแล้ว มีคนที่อาจารย์เรียกว่า “ลูก” รอเธอในทุกครั้งหลังสอนเสร็จ นักเรียนกลุ่มนี้เข้าไปหาเธอพร้อมกับคำถามที่พวกเขาสงสัยและไม่เข้าใจ เธออยู่ตอบคำถามทุกข้ออย่างเต็มใจ เวลาที่นักเรียนรู้ว่าเขาเข้าใจอะไรผิดไป ความสุขที่ปรากฏบนใบหน้าของเธอมันเห็นได้ชัดเจน บางวันก็จะมีลูกศิษย์ที่จบไปแล้วแวะเวียนกลับมาพูดคุยกับเธอ บอกเล่าสิ่งที่พวกเขาไปพบเจอ เรียนที่ไหนแล้ว ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เรียนจบเมื่อไหร่ ตอนนี้ทำงานอะไร สารพัดเรื่องพูดคุยเท่าที่คนคนนึงจะนึกออก กว่าเธอจะได้กลับไปพักผ่อน ท้องฟ้าที่เคยเป็นสีฟ้า ก็ปราศจากสีที่ถูกเติมแต่งจากแสงอาทิตย์ซะแล้ว เธอเอนตัวลงนอนพร้อมกับความสุขที่จะได้สอนหนังสือในวันต่อไป
“ภูมิใจนะครับ ที่ครูคนนึงมาได้ไกลขนาดนี้”
เสียงจากคนรอบตัวที่บอกกับเธอ
สำหรับอาจารย์อุ๊ เธอประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการงานและครอบครัว เธอมีตึกวรรณสรณ์แหล่งรวมกวดวิชาเป็นของตัวเอง เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกทั้งสองคนก็มีเส้นทางในการเรียนและการทำงานที่ดี เหลือก็เพียงแต่ให้ลูกทั้งสองได้เจอกับคนที่เหมาะสม ชีวิตของเธอก็จะสมบูรณ์แบบ
04 - ถึงอนาคตกับการเปลี่ยนแปลง
อาจารย์อุ๊เติบโตมาพร้อมกับการสอนหนังสือตั้งแต่ก่อนเรียนจบ ชีวิตของเธอผูกพันกับเด็กและการสอนหนังสือ ในอนาคตถ้าเธอหยุดสอนลงอย่างทันที สามีและลูกของเธอกลัวว่าเธอจะกลายเป็นคนซึมเศร้า ลองนึกภาพของคนที่สอนหนังสือมาทั้งชีวิต แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็ไม่มีอะไรทำ นั่นคงเป็นชีวิตที่เหงาไม่ใช่น้อย ลูกสาวของเธอจึงเข้ามารับช่วงต่อจากผู้เป็นแม่ ยังพบว่าตัวเองก็ชอบสอนหนังสือไม่ต่างจากเธอ อาจารย์อุ๊เล่าพร้อมรอยยิ้มว่าลูกของเธอก็มีวิธีการสอนในแบบของตัวเอง และเป็นที่รักของเด็ก ๆ ทุกคน
สิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งโตไปเป็นคนที่สมบูรณ์ นอกจากครอบครัวก็คงหนีไม่พ้นโรงเรียน โรงเรียนเป็นแหล่งที่ประกอบไปด้วยครูที่พร้อมจะให้ความรู้กับเด็ก ๆ ในช่วงของการเป็นครูของอาจารย์อุ๊ เธออยากสอนเคมีให้กับนักเรียน การเตรียมความพร้อมที่จะสอนในแต่ละวันเป็นสิ่งที่เธอทำก่อนเริ่มสอนเสมอ ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่เธออยากให้เปลี่ยน ด้วยความที่เธอเป็นคนขยันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสอนหนังสือ เธออยากให้ครูโฟกัสกับเรื่องการสอนเป็นหลัก ลดงานในส่วนสหกรณ์ หรือครูลูกเสือเนตรนารีลงบ้าง ผิดกับอาจารย์เจี๊ยบ เขาคิดอยู่เสมอว่าทุกงานทำให้เกิดการเรียนรู้ เขาทำทุกอย่างสุดความสามารถ แต่สิ่งที่อาจารย์สองคนนี้มีเหมือนกันคือเป็นคนรักนักเรียน อาจารย์อุ๊ชอบสอน อาจารย์เจี๊ยบชอบแกล้งเด็ก ทั้งสองคนเล่าเรื่องพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
“โรงเรียนจะเดินได้ ครูต้องสอนเป็น”
ประโยคทิ้งท้ายถึงโรงเรียนในประเทศไทย
การเรียนที่มีประสิทธิภาพครูต้องปรับวิธีการสอนใหม่ ให้เด็กมีความกล้าแสดงออก กล้ายกมือถามในห้อง รักในการสอนหนังสือ และที่สำคัญอาจารย์อุ๊เสนอว่าควรดูแลครูให้มากกว่านี้ เรื่องเงินเดือนก็อยากให้มันสมเหตุสมผล เพราะครูคือคนที่จะสร้างบุคลากรกลับคืนสู่สังคม ด้านกวดวิชาก็ไม่ต่างกัน อาจารย์เจี๊ยบบอกว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ธุรกิจกวดวิชาถูกจัดเก็บภาษีเป็นแบบธุรกิจไม่มีการลดหย่อน แต่ก็ยังต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระบบการศึกษา ภาษีถูกเก็บเพิ่มขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายก็ลงมาถึงผู้ปกครอง อยากให้ปรับความคิดว่าเราทำเพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้น ตั้งภาษีหมวดธุรกิจการศึกษาขึ้นมาใหม่เลย ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง สร้างความชัดเจนให้กับคำว่ากวดวิชา
“กวดวิชาจำเป็นสำหรับบางคน ไม่ใช่ทุกคน”
ท่ามกลางกระแสสังคมที่ผลักดันให้เด็กเรียนแต่กวดวิชา
การเรียนการสอนเปลี่ยนไป จำนวนนักเรียนที่เรียนกับดีวีดีเริ่มน้อยลง หันมาเรียนกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นเพราะสามารถจัดตารางเรียนได้เอง แค่เฉพาะสาขาพญาไท คอมพิวเตอร์เกือบห้าร้อยเครื่องถูกนำเข้ามาแทนที่การเรียนการสอนแบบเดิม

ปกติถ้าเรียนคอร์สดีวีดีต้องมาเรียนตามวันที่กำหนด หากขาดเรียนก็ต้องหารอบชดเชยทันที แต่กระแสการจัดตารางเรียนได้เองเริ่มเข้ามา สังเกตได้จากกวดวิชาเคมีที่ชั้นสิบสี่ของตึกวรรณสรณ์ ภาพของคอมพิวเตอร์มากมายกว่าห้าร้อยเครื่องถูกแทนที่ห้องเรียนแบบเดิม เธอกล่าวด้วยความหนักใจ เพราะการเรียนส่วนตัวด้วยคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงแรกเธอตั้งราคาให้สูงกว่าคอร์สดีวีดีถึงสองเท่า แต่ก็ยังมีคนลงเรียนจนเต็ม เป็นอย่างนี้มาหลายปีเธอจึงยอมปรับราคาลงให้สูงกว่าคอร์สดีวีดีไม่มาก คนที่เรียนได้ดีก็จะไปได้ไกลเลยนะ แต่ก็มีหลายคนที่มาอัดเรียนช่วงใกล้สอบทำให้ไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ การเรียนส่วนตัวที่มาพร้อมข้อดีและข้อควรระวังควรถูกใช้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
“อะไรที่อิสระเกินไป เด็กจะขาดระเบียบวินัย”
บางครั้งกรอบก็มีความจำเป็น
เด็กหลายคนเริ่มหันมาเรียนตัวต่อตัวมากขึ้น นิสิตหลายคนเริ่มหันมารับสอนพิเศษ สิ่งที่เธออยากให้ผู้ฝึกสอนได้ตระหนักอยู่เสมอคือ เขารักที่จะสอนหนังสือหรือไม่ บ่อยครั้งที่เธอรับนักเรียนจากการเรียนตัวต่อตัวเข้าเรียนคอร์สเอนทรานซ์ด้วยความกังวล เด็กเข้าใจว่าตัวเขารู้เรื่องนี้ดี แต่เมื่อเธอถามคำถามพื้นฐานเคมีไป เด็กกลับตอบไม่ได้ บางกรณีคอร์สปรับพื้นฐานก็ช่วยไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตามจำนวนคนกวดวิชาก็ค่อย ๆ ลดลงอนาคตของกวดวิชาเคมีแห่งนี้คงอยู่ไปอีกไม่นาน เพราะว่าลูก ๆ ของเธอก็เรียนจบกันหมดแล้ว ตึกแห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนเป็นบริษัทเกี่ยวกับการลงทุนของลูกชาย และโรงเรียนกวดวิชาอินเตอร์ของลูกสาว เธอเริ่มให้ลูกสาวเข้ามาช่วยสอนจนเป็นที่ยอมรับของนักเรียน ส่วนเธอเองก็กำลังกลับไปเป็นผู้สูงอายุทั่วไป
“เราสอนกวดวิชาเพื่ออะไร”
คำถามฝากถึงคนที่แบกรับอนาคตเด็กคนนึงไว้
ครอบครัวของอาจารย์อุ๊กำหนดให้ทุกวันพุธเป็นวันเที่ยวของครอบครัว โดยสามีเธอจะเป็นคนนำเพื่อดึงเธอออกจากโต๊ะ งานและกองหนังสือจำนวนมาก ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนี้ในอนาคตจะเกิดอะไร สิ่งที่ยังมาไม่ถึงล้วนยากเกินจะคาดเดา
05 - ถึงความช่วยเหลือและการแบ่งปัน
คนจำนวนมากหมุนเวียนรอบตัวของอาจารย์อุ๊ หลายคนที่เข้ามาจะสัมผัสได้ถึงพลังอันเหลือล้นที่เธอมีอยู่ หลายคนโชคดีที่ได้เจอเธอ คนใกล้ตัวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกวัน คนไกลตัวที่ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม เธอทำให้ชีวิตใครหลายคนดีขึ้น เด็กหลายคนมาพร้อมกับปัญหาที่ต้องการระบาย บางคนก็ต้องการวิธีแก้ปัญหา บางครั้งผู้ปกครองก็ต่อสายเข้ามายังกวดวิชาให้ช่วยลูกของพวกเธอ เพราะว่าได้ยินลูกเล่าถึงอาจารย์ให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง และคิดว่าอาจารย์เป็นคนที่ไม่ว่าจะพูดอะไร เด็กก็จะเชื่อฟังเสมอ
หลังเลิกเรียนอาจารย์จะอยู่ตอบคำถามส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจ แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีแต่ปัญหาเรื่องการเรียนอย่างเดียว ปัญหาครอบครัวเป็นหนึ่งในเรื่องที่อาจารย์ให้คำปรึกษากับนักเรียนของเธอ บางคนมาด้วยเรื่องพ่อแม่ บางคนมาด้วยเรื่องแฟน “คนใกล้ตัวที่ไม่ได้ไกลจนเกินไป” คนนี้ก็มักจะเป็นที่บรรเทาความกังวล และความเครียดอยู่เสมอ หลายครั้งที่ลูกเครียดเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ ผู้ปกครองไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร แต่จำได้ว่าลูกพูดถึงอาจารย์บ่อยมาก จึงขอให้อาจารย์ช่วยคุยให้ เนื่องจากเธอไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่มีไลน์ของลูกศิษย์คนสนิทหลายคน เธอจะโทรไปถามลูกศิษย์ประมาณว่าเห็นช่วงนี้หลายคนเครียด ก็เลยอยากพูดคุยว่าเป็นไงบ้าง แค่คำถามสั้น ๆ ไม่กี่คำก็ทำให้คนขี้กังวลคนนึงรู้สึกดีขึ้นได้
“บางครั้งคำชมคำเดียว เปลี่ยนชีวิตเด็ก”
เด็กหลายคนโชคดีที่ได้เจอกับเธอ
ข้อความมากมายถูกถามผ่านแฟนเพจ แต่มีข้อความนึงที่ทำให้อาจารย์ถึงกับรู้สึกสงสาร ปล่อยไว้ไม่ได้ ประโยคจากคนไม่รู้จักคนนึงพิมพ์มาว่า อยากส่งลูกเรียนพิเศษแต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินรอ “เปียแชร์” ให้ได้ก่อนถึงจะมีเงินมาส่งลูกเรียน หากพบผู้ปกครองที่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน เธอจะรู้สึกสงสารเพราะเด็กขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ เธอมักจะให้ทุนกับเด็กที่ทางบ้างไม่มีเงินจริง ๆ เรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขอแค่เด็กมีเวลามาเรียนก็พอ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อก่อนถ้าให้เธอมานั่งรับเงินตอนสมัครนะ ไม่ได้เงินหรอก ด้วยความเป็นคนที่ขี้สงสาร เวลาเห็นผู้ปกครองมานั่งนับธนบัตรยี่สิบตรงหน้าก็จะไม่อยากรับเงินแม้แต่บาทเดียว นั่นคงเป็นเพราะสิ่งที่แม่ของเธอสอนเธออยู่เสมอว่าเอาเปรียบคนอื่น
“แค่เด็กอยากเรียน เราก็ดีใจแล้ว”
คำพูดจากครูที่พร้อมจะให้ทุกอย่าง

ในทุกปีจะมีการเปิดคอร์สเอนทรานซ์ในช่วงมีนาคมถึงเมษายน เมื่อปิดคอร์สนักเรียนจะรวมตัวกันจัดพิธีไหว้คร ูให้กับอาจารย์โดยที่อาจารย์ไม่ได้ขอให้ทำจนตอนนี้เป็นประเพณีไปแล้ว สิ่งที่เธอมอบให้กับนักเรียนในวันนั้นเป็นดินสอหนึ่งแท่งกับดอกรักหนึ่งดอก
การเรียนการสอนแต่ละคอร์ส อาจารย์จะให้ความสำคัญกับนักเรียน หากสิ่งไหนที่นักเรียนทำถูกต้อง เธอจะชมเด็กว่า “เป็นคนดี” อยู่ตลอดเวลา คนดีที่บางครั้งก็ไม่อาจหาคำนิยามที่แน่นอนได้ นอกจากสอนให้เด็กเป็นคนดีแล้ว เธอยังมีเทคนิคการสอนใหม่ ๆ ช่วงไหนเป็นคำถามที่ยาก เธอจะพูดว่ายี่สิบ ทันใดนั้นเด็กก็จะหาคำตอบมาให้ทันที สิ่งที่เธอให้กับเด็กตอนเลิกเรียนเป็นธนบัตรใหม่เอี่ยมราคายี่สิบบาท แต่สิ่งที่มากับธนบัตรใบนั้น ไม่ใช่มูลค่าของมัน แต่เป็น “ศรัทธา” ที่เธอหยิบยื่นให้กับเด็ก ๆ เพราะเธอเคยได้รับมาก่อน เธอจึงรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร ธนบัตรที่ได้ไปนั้นคงไม่มีใครนำไปใช้ แต่คงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยตอบคำถามเธอได้
“ศรัทธาราคายี่สิบบาท”
กระดาษหนึ่งใบจากมือคนไม่ธรรมดา
ในทุกปีจะมีการสอนคอร์สเอนทรานซ์เพื่อให้ข้อสอบอัปเดตมากที่สุด แต่ใครจะไปรู้ว่ามีการไหว้ครูหลังปิดคอร์สด้วย กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำต่อ ๆ กันมาเป็นประเพณีโดยที่อาจารย์ไม่ได้ขอ เพื่อแสดงความรู้สึกที่ลูกศิษย์อยากให้กับครูที่พวกเขารัก ในขณะเดียวกันเธอเองก็มีดินสอไม้และดอกรักให้กับลูกศิษย์ “ทั้งประเทศ” ของที่พวกเขาได้ไปคงถูกเก็บไว้เป็นกำลังใจที่จะเดินตามความฝัน รอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขเกิดขึ้นตลอดกิจกรรม นั่นคงเป็นเหตุผลและให้คำตอบว่าทำไมเธอจึงเป็นครูจนถึงทุกวันนี้ การถ่ายรูปรวมหลังปิดคอร์สเกิดขึ้นทุกปีเช่นกัน จำนวนนักเรียนไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแม้แต่น้อย สิ่งที่เธอทำในแต่ละวัน เด็ก ๆ คงเห็นถึงความตั้งใจ และพร้อมที่จะรักครูคนนี้โดยไม่มีเงื่อนไข
“ป่วยก็ต้องกินยา เพราะพรุ่งนี้ต้องสอน”
เธอพูดโดยที่ไม่รู้ว่ามีลูกศิษย์คนนึงกำลังฟังอยู่
อาจารย์ก้าวข้ามคำว่าให้ไปไกลมากแล้ว เธอแบ่งปันโอกาสในการเรียนรู้ หยิบยื่นศรัทธาให้กับคนที่หมดกำลังใจ เป็นที่เติมพลังให้กับใครหลาย ๆ คน ที่สำคัญเธอสร้างคนเก่งและดีออกสู่สังคม และทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม ความสุขที่สัมผัสได้คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

การถ่ายรูปรวมคอร์สเอนทรานซ์เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแม้แต่นิด เดียว เวลาถามว่าทำไมถึงอยากเรียนกับอาจารย์อุ๊ จะได้ยินประโยคคำตอบยอดนิยมว่า “เพราะครูใจดี” ออกมาเสมอ
เวลาค่อย ๆ ผ่านไป อะไรหลาย ๆ ก็เปลี่ยนแปลง อายุไม่ใช่เพียงตัวเลขอีกต่อไป ร่างกายที่ถูกใช้งานอย่างหนักกำลังต้องการการพักผ่อน เธอกำลังลดบทบาทการสอนลงทีละน้อย แล้วให้ลูกสาวขึ้นมาสอนแทน ฉันไม่รู้ว่าที่ประจำยามว่างที่ฉันแวะมานั่งเล่นเพราะคิดถึง หลังจากนี้ฉันจะเจอเธอหรือไม่ ฉันไม่รู้ว่าจะเห็นอาจารย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เธอกำลังกลับไปใช้ชีวิตเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป แล้วรอให้ใครสักคนกลับไปเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง
กลับมาเยี่ยมอาจารย์กันบ้างนะ ฉันเชื่อว่าอาจารย์ก็คิดถึง


เรื่องเล่าโดย ชวกร ตั้งสินมั่นคง (ทิม)
วิศวกรฝึกหัด ผู้ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก สมัครค่ายสารคดีในฐานะช่างภาพที่อยากมีงานเขียนเป็นของตัวเอง พร้อมทั้งทดลองบันทึกภาพในสิ่งที่ไม่เคยถ่าย เผื่อว่าสักวันจะได้เจอกับสิ่งที่ตามหามานาน
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ไม่ใช่บทความอย่างเป็นทางการของค่ายสารคดีครั้งที่สิบสี่ แต่เป็นบทความถึงอาจารย์อุ๊หลังการสัมภาษณ์ที่ฉันเขียนด้วยความคิดถึง